วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

ประวัติของจังหวัดตรัง

ประวัติเมืองตรัง ต้องบอกก่อนว่าข้อมูลของผมมาจากการบอกเล่าและ จากหนังสือหนังหา ที่ผมอ่านเจอๆมา เพราะฉะนั้น จะไม่เหมือนของคนอื่นเขา เอาเป็นว่าลองอ่านกันดูนะครับ เราตั้งอยู่ที่ ละติจูด ( เส้นรุ้ง จำกันได้ไม๊ครับ สมัย เรียน เราท่องว่า รุ้งตะแคง แวงตั้ง ก็คงหมายถึง เราอยู่เหนือจากเส้นศูนย์สูตรขึ้นมา ) ที่ 7 องศาเหนือ มีการพบหลักฐาน ร่องรอยการดำเนินชีวิต บริเวณลุ่มแม่น้ำตรัง มาตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์( ชาติไทย เราเริ่มมีบันทึกที่แน่นอน ก็สมัยสุโขทัยไงละครับ แต่เรามาก่อน ) แล้วครับ เช่นการพบเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ทำจากหิน กะเทาะ การสร้างวัดเก่าแก่( ยืนยันว่าศาสนาพุทธนั้นเข้ามาก่อนยุคสุโขทัยมั้งครับอันนี้ผมคิดเอาเอง หรือท่านว่าไง ) เขาสามบาตรอยู่ในพิกัดทางภูมิศาสตร์ ที่เส้นรุ้ง 7 องศา 35 ลิปดา 18 พิลิปดาเหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 34 ลิปดา 58 พิลิปดาตะวันออก เขาสามบาตรมีถ้ำอยู่ 2 แห่ง คือ ถ้ำสามบาตร และ ถ้ำลูกยอง ภายใน ถ้ำทั้ง 2 นี้ มีหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ อยู่ร่วมกันภายในถ้ำ เช่น ภาพเขียนสีโบราณ เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ลูกปัด เปลือกหอย ขวานหินขัด ซึ่งหลักฐานเหล่านี้มีรูปลักษณ์ที่บ่งบอก ว่าเป็นหลักฐาน สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อีกทั้งยัง มีหลักฐานอื่น ๆ ที่มีลักษณะร่วมสมัยประวัติศาสตร์ เช่น บันทึกบนผนังถ้ำ เศษภาชนะดินเผาที่มีรูปทรงคล้ายคณโฑ มีพวยแบบกาเป็นต้น

 ปริศนาลายแทงเขาสามบาตร ชาวบ้านแถบนั้นเล่า ต่อ ๆ กันมาว่า “ภายในถ้ำแห่งนี้ ได้มีผู้นำทรัพย์สมบัติมาซุกซ่อนไว้ จำนวน 3 บาตร พร้อมกับผูกเป็นปริศนาไว้ว่า ขึ้นต้นขาม ข้ามต้นทึง ถึงต้นข่อย คอยลงมา ไม้ก้าววาคัดออก” และปริศนานี้ชาวบ้านเล่าว่า ได้มีเจ้านายคนหนึ่งขี่ช้างมา แก้ปริศนานั้นตกและได้เอาสมบัติไปแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2454 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เคยเสด็จมาที่ถ้ำเขาสามบาตร และได้ทรงบันทึกเรื่องการพบรอยบันทึก บนผนังถ้ำแห่งนี้เอาไว้ และทรงวินิจฉัยว่าเป็นบันทึกที่มีรูปตัวอักษร เป็นอักษรไทยสมัยอยุธยา รูปลักษณ์แบบเดียวกับตัวหนังสือที่วัดป่าโมกข์ ปี พ.ศ. 2519 นายวรรณยุทธ ณ วิลาศ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 9 ได้มา สำรวจทางด้านโบราณคดี และรายงานไว้ว่า เป็นถ้ำที่มีหนังสือไทยจารึกไว้บนผนังถ้ำ ปี พ.ศ. 2523 คณะสำรวจโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี และโบราณสถานภาคใต้ กองโบราณคดี กรมศิปากร ได้มาสำรวจถ้ำสามบาตรซ้ำอีก และได้บันทึกว่า พบจารึกอักษรไทยสมัยอยุธยา และหลักฐานก่อนสมัยประวัติศาสตร์ คือพบภาชนะดินเผา และเครื่องมือหิน ปี พ.ศ. 2533 ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนสภาราชินี ได้ทำการสำรวจอีกครั้ง และได้รายงานไว้ว่า พบหลักฐาน ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ อยู่ร่วมกันเช่นเดียวกับรายงานของคณะอื่น ๆ แต่ทางชมรมฯ ได้พบหลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่ยังไม่มีการบันทึกไว้ในรายงานการสำรวจฉบับอื่น ๆ คือ ภาพเขียนสีรูปทรงคล้ายภูเขาสามลูกต่อกันอยู่ในซอกผนังถ้ำสามบาตร ยังค้นพบ คำกลอนจารึกที่เขาสามบาตร เขาสามบาตรเป็นภูเขาลูกโดดขนาดย่อม ตั้งอยู่ในเขตธรณีสงฆ์ วัดไพรสณฑ์ หมู่ที่ 4 ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ห่างจากตัวจังหวัดตรังไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 5 กิโลเมตร

ซึ่งมีอักษร จารึกไว้ว่า ” กำไวเมื่อพระบาดพระเจ้าพระเพด พระศรีคงพระพรมพระพุทรัก ษาแลเจ้าเน่นทั้งหลายมาเลิกสาด สนาพระเจ้าในเขาสะบาปและพระเจ้านัน ธรรมาณรายมา..แลวแลพระบาดเจ้ามาเป็น พระ..แก…ขุนนางกรมการทัง..เมือง แลสัปรุศชายญ..ให้เลิกสาศนาพระพุทเจ้ากบริบูน แล้วแลสัปรุศ..ชวนกันฉลองกุสลบุญแลเพื่อวาจะปรา ถนาพนจากทุก..หาสุกกุราชได้สองพันร้อยหาสิบ เจดปีเจดวันนันแล..สุกกุราชใด..ปีเมื่อญกพระเจ้าวัน สุกเดือนเจ็ดขึ้นสองค่า..นักสัตรฉสกบอกไว้ให้เป็น.. สิน..แลผู้จำ..นาไปเมื่อหน้า” พิมพ์ถูกไม๊หว่า

เเอาเป็นว่าใครอ่านได้เจ๋งเลยครับ ผู้รู้ท่านแปลสรุปไว้ว่า เมื่อปี ๒๑๕๗ ซึ่งตรงกับสมัย พระเจ้าเอกาทศรถนั่นเอง ตรังมีชุมชนใหญ่ระดับเมืองตรังบริเวณเขา “สะบาป” ( ตรงไหนหว่า ) มีขุนนางและผู้คนมากมายมา ร่วมกัน “เลิกสาดสนา”คือ การบูรณะ ปฎิสังขรณ์วัดนั่นเอง ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เราอยู่ในความดูแลของพระยานคร มีผู้ว่า ชื่อพระยาตรัง ( สีไหน )

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพ่อเมืองท่านนี้ว่าเป็นนักกวี ชั้นเยี่ยม และยังเป็นนักรักด้วย ( ทำไมสมัยก่อนๆนักกลอน นักกวีนี่เมียเยอะ ทุกคนเลยแฮะ คงเหมือนกะนักร้อง สมัยนี้ละมั้ง ) มีภรรยาหลายคน วันหนึ่งช่วงที่ท่านไม่อยู่ ภรรยาน้องคนที่ ๓ หนีตามชายชู้ไป ไม่พอยัง เขียนกลอนท้าทายไว้ที่ประตูห้องว่า

” เราไม่ดี เราไม่พา นารีจร ข้ามสิงขร ชะง่อนผา”

พอท่านกลับมาพบ โกรธ มาก ถึงขนาดเขียนกลอนตอบไว้ว่า ” เราไม่เก่ง เราไม่พา นารีกลับ จะเฆี่ยนพ่อ มันให้ยับ ลงกับหวาย ”

แล้วจึงสั่งคน ออกติดตามหา พอพบตัวก็เฆี่ยนตีจนสาแก่ใจ แล้วจึงใช้ไม้ไผ่ตง คีบแบบเดียวกับปลาย่าง แล้วนำไปย่างไฟจนตายทั้งเป็น ขุดหลุมฝัง แล้วให้ช้างเหยียบให้แน่น บริเวณ วัดควนธานี ใกล้ๆกับ ศาลหลักเมืองนั่นเอง ข่าวเรื่องนี้ไปถึงบางกอก พระยาตรัง เลยถูกเรียกขึ้นไปกรุงเทพ แล้วส่ง พระภักดีบริรักษ์ มาเป็นเจ้าเมืองแทนในสมัย พระภักดีนั่นเอง ที่กราบบังคมทูล ขอรวมเมืองตรัง เข้ากับ เมืองภูรา หรือว่า ลำภูรา เข้าด้วยกัน กลายเป็นเมืองตรัง หรือทับเที่ยงจนถึงทุกวันนี้

อันว่า ชื่อ ตรัง หรือตรังเค ( ภาษามลายู ) นั้นแปลว่า รุ่งอรุณ เช้าตรู่ หรืออาจจะหมายความว่า เนินเขาก็ได้ ผมคิดเอาเองว่า น่าจะหมายถึง เรือที่มาถึงตรังนี่น่าจะถึงตอนเช้า หรือไม่ก็ ด้วยสภาพผืนดินของเราจะเป็นภูเขาเล็กๆ หลายๆลูก ดูง่ายๆ ก็ที่จวนผู้ว่า ภาษาใต้อีกแล้ว ก็บ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดนี่แหละครับ จะเป็นควน หรือเขาเล้กๆที่น่าจะสูงที่สุดในเมืองละ ฮวงจุ้ยดีเลิศ ผู้ว่าที่มาประจำที่ตรังเลยได้ดีกันไปหลายท่านแล้วละ ( เกี่ยวกันไหมหว่า ….) เราเรียกว่าจวน ไอ้บ้านกระผมก็อยู่แถวๆนั้น เลยเรียกว่า ” หลังจวน ” เสร็จแล้ว อำเภอเมืองเรานี่ คนท้องถิ่นจะเรียกว่า ทับเที่ยง เล่ากันว่า เสด็จ ร.5 ท่านเสด็จประภาสตรังเมืองนานมาแล้ว มาเสวยพระกระยาหารเที่ยงที่นี่ครับ เลยเรียกกันเรื่อยว่าประทับเที่ยง จนกลายเป็นทับเที่ยงวันนี้ ผมยังนึกไปถึง คำโบราณที่ว่าไกลปืนเที่ยง จะเกี่ยวกะเรื่องนี้หรือเปล่านา ใครทราบก็ช่วยแจ้งมาด้วยนะครับ…… วันนี้ก็ แต่นี้ก่อนเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังอีกเยอะๆครับ ….^_*